วันพฤหัสบดีที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2553

พืช สมุนไพร

กลุ่มยารักษาโรคผิวหนัง ผื่นคัน กลากเกลื้อน




อัคคีทวาร







ชื่อวิทยาศาสตร์ : Clerodendrum serratum L. var. wallichii C.B.clarke



วงศ์ : VERBENACEAE



ชื่ออื่น : ตรีชะวา (ภาคกลาง) ตั่งต่อ ปอสามเกี๋ยน สามสุม (ภาคเหนือ) พรายสะเลียง สะเม่าใหญ่ (นครราชสีมา) หลัวสามเกียน (เชียงใหม่) อัคคี (สุราษฎร์ธานี) อัคคีทวาร (ภาคกลาง, เชียงใหม่)



ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : ไม้พุ่มขนาดเล็ก สูง 1 - 4 เมตร ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปขอบขนาน รูปขอบขนานแกมใบหอก หรือรูปใบหอกแกมรูปไข่กลับ กว้าง 4 - 6 ซม. ยาว 15 - 20 ซม. ขอบใบหยักฟันเลื่อย ดอกช่อ ออกที่ปลายกิ่ง กลีบดอก 5 กลีบ กลีบกลางสีม่วงเข้ม กลีบข้างสี่กลีบสีฟ้าสด รูปค่อนข้างกลม หรือรูปไข่กลับกว้าง เมื่อสุกสีม่วงเข้มหรือดำ

ส่วนที่ใช้ : ทั้งต้น ใบแห้ง ผล ราก

สรรพคุณ :

ทั้งต้น - รักษากลากเกลื้อน โรคเรื้อน

วิธีและปริมาณที่ใช้ : ใช้ใบ และต้น ตำพอกรักษากลากเกลื้อน โรคเรื้อน พอกแก้ปวดศีรษะเรื้อรัง และแก้ขัดตามข้อ และดูดหนอง

พืช สมุนไพร

กลุ่มยารักษาโรคผิวหนัง ผื่นคัน กลากเกลื้อน




ว่านมหากาฬ









ชื่อวิทยาศาสตร์ : Gynura pseudochina (L.) DC.



วงศ์ : Asteraceae (Compositae)



ชื่ออื่น : ดาวเรือง (ภาคกลาง)



ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : ไม้ล้มลุก มีรากขนาดใหญ่ ลำต้นอวบน้ำ ทอดเลื้อยยาว ชูยอดตั้งขึ้น ใบ เดี่ยว ขอบใบหยัก หลังใบสีม่วงเข้ม ท้องใบสีเขียวแกมเทา ดอก ช่อ ออกที่ปลายยอด ก้านช่อดอกยาว กลีบดอกสีเหลืองทอง ผล เป็นผลแห้ง ไม่แตก

ส่วนที่ใช้ : หัว ใบสด

สรรพคุณ :



หัว

- รับประทานแก้พิษอักเสบ ดับพิษกาฬ พิษร้อน

- แก้ไข้พิษเซื่องซึม แก้เริม



ใบสด

- ขับระดู

- ตำพอกฝี หรือหัวละมะลอก งูสวัด เริม ทำให้เย็น ถอนพิษ แก้ปวดแสบปวดร้อน



วิธีและปริมาณที่ใช้

ใช้ใบสด 5-6 ใบ ล้างน้ำให้สะอาด ตำในภาชนะทีสะอาด ใส่พิมเสนเล็กน้อย

ใช้ใบสด 5-6 ใบ โขลกผสมกับสุรา ใช้น้ำทา และพอกบริเวณที่เป็นด้วยก็ได้

ข้อสังเกต - ในการใช้ว่านมหากาฬรักษาเริม และงูสวัด เมื่อหายแล้ว มีการกลับเป็นใหม่น้อยกว่าเมื่อใช้เหล้าขาว

พืช สมุนไพร

กลุ่มยารักษาโรคผิวหนัง ผื่นคัน กลากเกลื้อน




มะยม









ชื่อวิทยาศาสตร์ : Phyllanthus acidus (L.) Skeels



ชื่อสามัญ : Star Gooseberry



วงศ์ : Euphorbiaceae



ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : ไม้ต้นขนาดเล็กถึงขนาดกลาง สูงประมาณ 3 – 10 เมตร ลำต้นตั้งตรง แตกกิ่งก้านสาขาบริเวณปลายยอด กิ่งก้านจะเปราะและแตกง่าย เปลือกต้นขรุขระสีเทาปนน้ำตาล ใบ เป็นใบรวม มีใบย่อยออกเรียงแบบสลับกันเป็น 2 แถว แต่ละก้านมีใบย่อย 20 – 30 คู่ ใบรูปขอบขนานกลมหรือค่อนข้างเป็นสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูนปลายใบแหลม ฐานใบกลมหรือมน ขอบใบเรียบ ดอก ออกเป็นช่อตามกิ่ง ดอกย่อยสีเหลืองอมน้ำตาลเรื่อๆ ผล เมื่ออ่อนสีเขียว เมื่อแก่เปลี่ยนเป็นสีเหลืองหรือขาวแกมเหลือง เนื้อฉ่ำน้ำ เมล็ดรูปร่างกลม แข็ง สีน้ำตาลอ่อน 1 เมล็ด



ส่วนที่ใช้ : ใบตัวผู้ ผลตัวเมีย รากตัวผู้

สรรพคุณ :



ใบตัวผู้ - แก้พิษคัน แก้พิษไข้หัว เหือด หัด สุกใส ดำแดง ปรุงในยาเขียว และใช้เป็นอาหารได้



ผลตัวเมีย - ใช้เป็นอาหารรับประทาน



รากตัวผู้ - แก้ไข้ แก้โรคผิวหนัง แก้ประดง แก้เม็ดผื่นคัน ขับน้ำเหลืองให้แห้ง



วิธีและปริมาณที่ใช้ : ใช้ใบตัวผู้ หรือรากตัวผู้ ต้มน้ำดื่ม

สารเคมี



ผล มี tannin, dextrose, levulose, sucrose, vitamin C



ราก มี beta-amyrin, phyllanthol, tannin saponin, gallic acid

พืช สมุนไพร

กลุ่มยารักษาโรคผิวหนัง ผื่นคัน กลากเกลื้อน



พิลังกาสา









ชื่อวิทยาศาสตร์ : Ardisia polycephala Wall.



วงศ์ : MYRSINACEAE



ชื่ออื่น : ตีนจำ (เลย) ผักจำ ผักจ้ำแดง (เชียงใหม่, เชียงราย)



ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : ไม้ต้นขนาดย่อม สูง 2-3 เมตร ใบเป็นใบเดี่ยว ออกสลับกันเป็นคู่ ๆ ตามข้อต้น ลักษณะใบเป็นรูปไข่ ปลายแหลม โคนใบสอบ ขอบใบเรียบ ไม่มีจักร ใบจะหนา ใหญ่ มีสีเขียวเป็นมัน ดอกออกเป็นช่ออยู่ตามปลายกิ่ง หรือตามส่วนยอด ดอกมีสีชมพูอมขาว ผลโตเท่าขนาดเม็ดนุ่น เมื่อยังอ่อนเป็นสีแดง ผลแก่จะเป็นสีม่วงดำ



ส่วนที่ใช้ และสรรพคุณ :



ใบ - แก้โรคตับพิการ แก้ท้องเสีย แก้ไอ แก้ลม



ดอก - ฆ่าเชื้อโรค แก้พยาธิ



เมล็ด - แก้ลมพิษ



ราก - แก้กามโรค และหนองใน พอกปิดแผล ถอนพิษงู



ต้น - แก้โรคผิวหนัง โรคเรื้อน



สารที่พบ : α - amyrin, rapanone ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา - ต้านเชื้อแบคทีเรีย ยับยั้ง platelet activating factor receptor binding

พืช สมุนไพร

กลุ่มยารักษาโรคผิวหนัง ผื่นคัน กลากเกลื้อน




เหงือกปลาหมอ









ชื่อวิทยาศาสตร์ : Acanthus ebracteatus Vahl



ชื่อพ้อง : Acanthus ilicifolius L.

ชื่อสามัญ : Sea holly



วงศ์ : ACANTHACEAE



ชื่ออื่น : แก้มหมอ แก้มหมอเล จะเกร็ง นางเกร็ง อีเกร็ง เหงือกปลาหมอน้ำเงิน



ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : เป็นไม้พุ่มขนาดกลาง สูง 1-2 เมตร ลำต้นและใบมีหนาม ใบหนามแข็งมีขอบเว้าและมีหนามแหลม ใบออกเป็นคู่ตรงข้ามกัน ดอกออกเป็นช่อตามยอด กลีบดอกสีขาวอมม่วง มี 4 กลีบแยกจากกัน ผลเป็นฝักสีน้ำตาล มี 4 เมล็ด ชอบขึ้นตามชายน้ำ ริมฝั่งคลองบริเวณปากแม่น้ำ



ส่วนที่ใช้ : ต้น และใบ ทั้งสดและแห้ง ราก เมล็ด

สรรพคุณ :



ต้นทั้งสดและแห้ง - แก้แผลพุพอง น้ำเหลืองเสีย เป็นฝีบ่อยๆ



ใบ - เป็นยาประคบแก้ไขข้ออักเสบ แก้ปวดต่าง ๆ รักษาโรคผิวหนัง ขับน้ำเหลืองเสีย



ราก

- ขับเสมหะ บำรุงประสาท แก้ไอ แก้หืด

- รักษามุตกิดระดูขาว



เมล็ด

- ปิดพอกฝี

- ต้มดื่มแก้ไอ ขับพยาธิ ขับน้ำเหลืองเสีย



วิธีและปริมาณที่ใช้ : ใช้ต้นและใบสด 3-4 กำมือ ล้างให้สะอาด นำมาสับ ต้มน้ำอาบแก้ผื่นคัน ใช้ติดต่อกัน 3-4 ครั้ง

พืช สมุนไพร

กลุ่มยารักษาโรคผิวหนัง ผื่นคัน กลากเกลื้อน




ใบระบาด









ชื่อวิทยาศาสตร์ : Argyreia nervosa (Burm.f.) Bojer



ชื่อสามัญ : Morning Glory , Baby Hawaiian Woodrose



วงศ์ : Convolvulaceae



ชื่ออื่น : ผักระบาด (ภาคกลาง) เมืองบอน (กรุงเทพฯ)



ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : ไม้เถา ยาวได้ถึง 10 เมตร ทุกส่วนมียางสีขาว และขนสีขาวหนาแน่น ใบ ใบเดี่ยว ออกสลับ รูปหัวใจ กว้าง 9 - 25 เซนติเมตร ยาว 11 - 30 เซนติเมตร ปลายแหลม โคนเว้า ด้านล่างมีขนอ่อนนุ่มคล้ายเส้นไหม สีเทาเงิน ดอก สีม่วงอมชมพูออกเป็นช่อตามซอกใบ ก้านช่อแข็ง ยาวประมาณ 20 เซนติเมตร ใบประดับ รูปไข่ ยาว 3 - 5 เซนติเมตร กลีบเลี้ยง 5 กลีบ ขนาดไม่เท่ากัน กลีบดอกรูปกรวย ยาวประมาณ 6 เซนติเมตรปลายแผ่ออกและหยักเป็นแฉกตื้น ๆ เมื่อบานเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 6 เซนติเมตร เกสรตัวผู้ 5 อัน ผลกลม เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 2 เซนติเมตร ปลายมีติ่ง



ส่วนที่ใช้ : ใบสด

สรรพคุณ : ยารักษาโรคผิวหนัง ผื่นคัน

วิธีและปริมาณที่ใช้

ใช้ใบสด 2-3 ใบ นำมาล้างให้สะอาด ตำให้ละเอียด ใช้ทาบริเวณที่เป็นโรคผิวหนัง วันละ 2-3 ครั้งติดต่อกัน 3-4 วันจะเห็นผล

สารเคมี : เมล็ด( white seed coat exterior) มี cyanogenic glycosides

หมายเหตุ : เป็นสมุนไพรที่ใช้เฉพาะภายนอก ห้ามรับประทาน เนื่องจาก ใบ ถ้ารับประทานเข้าไปทำให้คลุ้มคลั่ง ตาพร่า มึนงง เมล็ด ถ้ารับประทานเข้าไปทำให้ประสาทหลอน

พืช สมุนไพร

กลุ่มยารักษาโรคผิวหนัง ผื่นคัน กลากเกลื้อน




นางแย้ม









ชื่อวิทยาศาสตร์ : Clerodendrum chinense (Osbeck) Mabb.



ชื่อพ้อง : Volkameria fragrans Vent.

ชื่อสามัญ : Glory Bower



วงศ์ : Labiatae



ชื่ออื่น : ปิ้งหอม



ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : ไม้พุ่มลำต้นเตี้ยสูงประมาณ 3-5 ฟุต ใบเป็นใบเดี่ยวจะออกเป็นคู่ๆ ตรงข้ามกัน ลักษณะใบเป็นรูปใบโพธิ์ ตรงปลายแหลมแต่ไม่มีติ่ง ขอบใบหยักรอบใบ ออกดอกเป็นช่อ ดอกจะเบียดเสียดติดกันแน่นในช่อ ช่อดอกหนึ่งกว้างประมาณ 4-5 นิ้ว ลักษณะดอกย่อยคล้ายดอกมะลิซ้อนสีขาว บานเต็มที่ประมาณ 1 นิ้ว ดอกย่อยมีกลีบเลี้ยงสีม่วงแดงเป็นหลอดสั้น ปลายแยก 5-6 แฉก ดอกย่อยบานไม่พร้อมกันและบานนานหลายวัน มีกลิ่นหอมมากทั้งกลางวันและกลางคืน ออกดอกตลอดปี



ส่วนที่ใช้ : ต้น ใบ และราก

สรรพคุณ :



ใบ - แก้โรคผิวหนัง ผื่นคัน



ราก

- ขับระดู ขับปัสสาวะ

- แก้หลอดลมอักเสบ ลำไส้อักเสบ

- แก้เหน็บชา บำรุงประสาท รวมทั้งเหน็บชาที่มีอาการบวมช้ำ

- แก้ไข้ แก้ฝีภายใน

- แก้ริดสีดวง ดากโผล่

- แก้กระดูกสันหลังอักเสบเรื้อรัง

- แก้ปวดเอว และปวดข้อ แก้ไตพิการ



ตำรับยา และวิธีใช้



เหน็บชา ปวดขา

ใช้ราก 15-30 กรัม ตุ๋นกับไก่ รับประทานติดต่อกัน 2-3 วัน



ปวดเอวปวดข้อ เหน็บชาที่มีอาการบวมช้ำ

ใช้รากแห้ง 30-60 กรัม ต้มน้ำดื่ม



ขับระดูขาว ลดความดันโลหิตสูง แห้หลอดลมอักเสบ

ใช้ราก และใบแห้ง 15-30 กรัม ต้มน้ำดื่ม



ริดสีดวงทวาร ดากโผล่

ใช้รากแห้งจำนวนพอควร ต้มน้ำ แล้วนั่งแช่ในน้ำนั้นชั่วครู่



โรคผิวหนัง ผื่นคัน เริม

ใช้ใบสด จำนวนพอควร ต้มน้ำชะล้างบริเวณที่เป็น



สารเคมีที่พบ : มี Flavonoid glycoside, phenol, saponin และ Tannin

พืช สมุนไพร

กลุ่มยารักษาโรคผิวหนัง ผื่นคัน กลากเกลื้อน



ขมิ้นชัน









ชื่อวิทยาศาสตร์ : Curcuma longa L.



ชื่อสามัญ : Turmaric



วงศ์ : Zingiberaceae



ชื่ออื่น : ขมิ้น (ทั่วไป) ขมิ้นแกง ขมิ้นหยอก ขมิ้นหัว (เชียงใหม่) ขี้มิ้น หมิ้น (ภาคใต้)

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : ไม้ล้มลุก อายุหลายปี สูง 30-90 ซม. เหง้าใต้ดินรูปไข่มีแขนงรูปทรงกระบอกแตกออกด้านข้าง 2 ด้าน ตรงกันข้ามเนื้อในเหง้าสีเหลืองส้ม มีกลิ่นเฉพาะ ใบ เดี่ยว แทงออกมาเหง้าเรียงเป็นวงซ้อนทับกันรูปใบหอก กว้าง 12-15 ซม. ยาว 30-40 ซม. ดอก ช่อ แทงออกจากเหง้า แทรกขึ้นมาระหว่างก้านใบ รูปทรงกระบอก กลีบดอกสีเหลืองอ่อน ใบประดับสีเขียวอ่อนหรือสีนวล บานครั้งละ 3-4 ดอก ผล รูปกลมมี 3 พู



ส่วนที่ใช้ : เหง้าแก่สด และแห้ง



สรรพคุณ :



เป็นยาภายใน

- แก้ท้องอืด

- แก้ท้องร่วง

- แก้โรคกระเพาะ



เป็นยาภายนอก

- ทาแก้ผื่นคัน โรคผิวหนัง พุพอง

- ยารักษาชันนะตุและหนังศีรษะเป็นเม็ดผื่นคัน



วิธีและปริมาณที่ใช้



เป็นยาภายใน

เหง้าแก่สดยาวประมาณ 2 นิ้ว เอามาขูดเปลือก ล้างน้ำให้สะอาด ตำให้ละเอียด เติมน้ำ คั้นเอาแต่น้ำ รับประทานครั้งละ 2 ช้อนโต๊ะ วันละ 3-4 ครั้ง



เป็นยาภายนอก

เหง้าแก่แห้งไม่จำกัดจำนวน ป่นให้เป็นผงละเอียด ใช้ทาตามบริเวณที่เป็นเม็ดผื่นคัน โดยเฉพาะในเด็กนิยมใช้มาก



สารเคมี

ราก และ เหง้า มี tumerone, zingerene bissboline, zingiberene,(+) - sabinene, alpha-phellandrene, curcumone, curcumin

พืช สมุนไพร

กลุ่มยารักษาโรคผิวหนัง ผื่นคัน กลากเกลื้อน




ข่า









ชื่อวิทยาศาสตร์ : Alpinia galanga (L.) Willd.



ชื่อสามัญ : Galanga



วงศ์ : Zingiberaceae



ชื่ออื่น : ข่าหยวก ข่าหลวง (ภาคเหนือ) , กฏุกกโรหินี (ภาคกลาง)



ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : ไม้ล้มลุก สูง 1.5-2 เมตร เหง้ามีข้อและปล้องชัดเจน ใบ เดี่ยว เรียงสลับ รูปใบหอก รูปวงรีหรือเกือบขอบขนาน กว้าง 7-9 ซม. ยาว 20-40 ซม. ดอก ช่อ ออกที่ยอด ดอกย่อยขนาดเล็ก กลีบดอกสีขาว โคนติดกันเป็นหลอดสั้นๆ ปลายแยกเป็น 3 กลีบ กลีบใหญ่ที่สุดมีริ้วสีแดง ใบประดับรูปไข่ ผล เป็นผลแห้งแตกได้ รูปกลม



สรรพคุณ :



เป็นยาแก้ท้องขึ้น ท้องอืดเฟ้อ ขับลม

แก้อาหารเป็นพิษ

เป็นยาแก้ลมพิษ

เป็นยารักษากลากเกลื้อน โรคผิวหนัง ติดเขื้อแบคทีเรีย เชื้อรา

วิธีและปริมาณที่ใช้ :



รักษาท้องขึ้น ท้องอืด ท้องเฟ้อ ขับลม แก้ท้องเดิน (ที่เรียกโรคป่วง) แก้บิด อาเจียน ปวดท้อง

ใช้เหง้าข่าแก่สด ยาวประมาณ 1-1 ½ นิ้วฟุต (หรือประมาณ 2 องคุลี) ตำให้ละเอียด เติมน้ำปูนใส ใช้น้ำยาดื่ม ครั้งละ ½ ถ้วยแก้ว วันละ 3 เวลา หลังอาหาร



รักษาลมพิษ

ใช้เหง้าข่าแก่ๆ ที่สด 1 แง่ง ตำให้ละเอียด เติมเหล้าโรงพอให้แฉะๆ ใช้ทั้งเนื้อและน้ำ ทาบริเวณที่เป็นลมพิษบ่อยๆ จนกว่าจะดีขึ้น



รักษากลากเกลื้อน โรคผิวหนัง

ใช้เหง้าข่าแก่ เท่าหัวแม่มือ ตำให้ละเอียดผสมเหล้าโรง ทาที่เป็นโรคผิวหนัง หลายๆ ครั้งจนกว่าจะหาย



สารเคมี

1 - acetoxychavicol acetate น้ำมันหอมระเหย ซึ่งประกอบด้วย monoterene 2 - terpineol, terpenen 4 - ol, cineole, camphor, linalool, eugenol

พืช สมุนไพร

กลุ่มยารักษาโรคผิวหนัง ผื่นคัน กลากเกลื้อน




กุ่มบก









ชื่อวิทยาศาสตร์ : Crateva adansonii DC. subsp. trifoliata (Roxb.) Jacobs



ชื่อสามัญ : Sacred Barnar, Caper Tree



วงศ์ : Capparaceae



ชื่ออื่น : ผักกุ่ม



ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : ไม้ต้นขนาดกลาง สูง 6-10 ม. ใบประกอบแบบนิ้วมือ มีใบย่อย 3 ใบ ก้านใบประกอบยาว 7-9 ซม. ใบย่อยรูปรีหรือรูปไข่ กว้าง 4-6 ซม. ยาว 7.5-11 ซม. ปลายแหลมหรือเรียวแหลม โคนแหลมหรือสอบแคบ ขอบเรียบ ใบย่อยที่อยู่ด้านข้างโคนใบเบี้ยว แผ่นใบค่อนข้างหนา เส้นแขนงใบข้างละ 4-5 เส้น ก้านใบย่อยยาว 4-5 มม. ช่อดอกแบบช่อกระจะ ออกตามง่ามใบใกล้ปลายยอด ก้านดอกยาว 3-7 ซม. กลีบเลี้ยงรูปรี กว้าง 2-3 มม. ยาว 4-5 มม. เมื่อแห้งมักเป็นสีส้ม กลีบดอกสีขาวอมเขียวแล้วค่อยๆ เปลี่ยนเป็นสีเหลืองหรือชมพูอ่อน รูปรี กว้าง 0.8-1.5 ซม. ยาว 1.2-1.8 ซม. โคนกลีบเป็นเส้นคล้ายก้าน ยาว 3-7 มม. เกสรเพศผู้สีม่วง มี 15-22 อัน ก้านชูอับเรณูยาวประมาณ 4 ซม. ก้านชูเกสรเพศเมียยาวประมาณ 5 ซม. รังไข่ค่อนข้างกลมหรือรี มี 1 ช่อง ผลกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง 2-3.5 ซม. เปลือกมีจุดแต้มสีน้ำตาลอมแดง เมื่อแก่เปลือกเรียบ ก้านผลกว้าง 2-4 มม. ยาว 5-13 ซม. เมล็ดรูปคล้ายเกือกม้าหรือรูปไต กว้างประมาณ 2 มม. ยาวประมาณ 6 มม. ผิวเรียบ



สรรพคุณ :



ใบ - ขับลม ฆ่าแม่พยาธิ เช่น พวกตะมอย และทาแก้เกลื้อนกลาก



เปลือก - ร้อน ขับลม แก้นิ่ง แก้ปวดท้อง ลงท้อง คุมธาตุ



กระพี้ - ทำให้ขี้หูแห้งออกมา



แก่น - แก้ริดสีดวง ผอม เหลือง



ราก - แก้มานกษัย อันเกิดแต่กองลม



เปลือก - ใช้ทาภายนอก แก้โรคผิวหนัง

พืช สมุนไพร

กลุ่มยาลดไขมันในเส้นเลือด



กระเจี๊ยบแดง









ชื่อวิทยาศาสตร์ : Hibiscus sabdariffa L.



ชื่อสามัญ : Jamaican Sorel, Roselle



วงศ์ : Malvaceae



ชื่ออื่น : กระเจี๊ยบ กระเจี๊ยบเปรี้ย ผักเก็งเค็ง ส้มเก็งเค็ง ส้มตะเลงเครง



ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : ไม้พุ่ม สูง 50-180 ซม. มีหลายพันธุ์ ลำต้นสีม่วงแดง ใบเดี่ยว รูปฝ่ามือ 3 หรือ 5 แฉก กว้างและยาวใกล้เคียงกัน 8-15 ซม. ดอกเดี่ยว ออกที่ซอกใบ กลีบดอกสีชมพูหรือเหลืองบริเวณกลางดอกสีม่วงแดง เกสรตัวผู้เชื่อมกันเป็นหลอด ผลเป็นผลแห้ง แตกได้ มีกลีบเลี้ยงสีแดงฉ่ำน้ำหุ้มไว้



สรรพคุณ :



กลีบเลี้ยงของดอก หรือกลีบที่เหลืออยู่ที่ผล



เป็นยาลดไขมันในเส้นเลือด และช่วยลดน้ำหนักด้วย



ลดความดันโลหิตได้โดยไม่มีผลร้ายแต่อย่างใด



น้ำกระเจี๊ยบทำให้ความเหนียวข้นของเลือดลดลง



ช่วยรักษาโรคเส้นโลหิตแข็งเปราะได้ดี



น้ำกระเจี๊ยบยังมีฤทธิ์ขับปัสสาวะ เป็นการช่วยลดความดันอีกทางหนึ่ง



ช่วยย่อยอาหาร เพราะไม่เพิ่มการหลั่งของกรดในกระเพาะ



เพิ่มการหลั่งน้ำดีจากตับ



เป็นเครื่องดื่มที่ช่วยให้ร่างกายสดชื่น เพราะมีกรดซีตริคอยู่ด้วย



ใบ แก้โรคพยาธิตัวจี๊ด ยากัดเสมหะ แก้ไอ ขับเมือกมันในลำคอ ให้ลงสู่ทวารหนัก



ดอก แก้โรคนิ่วในไต แก้โรคนิ่วในกระเพราะปัสสาวะ ขัดเบา ละลายไขมันในเส้นเลือด กัดเสมหะ ขับเมือกในลำไส้ให้ลงสู่ทวารหนัก



ผล ลดไขมันในเส้นเลือด แก้กระหายน้ำ รักษาแผลในกระเพาะ



เมล็ด บำรุงธาตุ บำรุงกำลัง แก้ดีพิการ ขับปัสสาวะ ลดไขมันในเส้นเลือด



นอกจากนี้ได้บ่งสรรพคุณโดยไม่ได้ระบุว่าใช้ส่วนใด ดังนี้คือ แก้อ่อนเพลีย บำรุงกำลัง บำรุงธาตุ แก้ดีพิการ แก้ปัสสาวะพิการ แก้คอแห้งกระหายน้ำ แก้ความดันโลหิตสูง กัดเสมหะ แก้ไอ ขับเมือกมันในลำไส้ ลดไขมันในเลือด บำรุงโลหิต ลดอุณหภูมิในร่างกาย แก้โรคเบาหวาน แก้เส้นเลือดตีบตัน

นอกจากใช้เดี่ยวๆ แล้ว ยังใช้ผสมในตำรับยาร่วมกับสมุนไพรอื่น ใช้ถ่ายพยาธิตัวจี๊ด



วิธีและปริมาณที่ใช้ :

โดยนำเอากลีบเลี้ยง หรือกลีบรองดอกสีม่วงแดง ตากแห้งและบดเป็นผง ใช้ครั้งละ 1 ช้อนชา (หนัก 3 กรัม) ชงกับน้ำเดือด 1 ถ้วย (250 มิลลิลิตร) ดื่มเฉพาะน้ำสีแดงใส ดื่มวันละ 3 ครั้ง ติดต่อกันทุกวันจนกว่าอาการขัดเบาและอาการอื่นๆ จะหายไป

สารเคมี

ดอก พบ Protocatechuic acid, hibiscetin, hibicin, organic acid, malvin, gossypetin

คุณค่าด้านอาหาร

น้ำกระเจี๊ยบแดง มีรสเปรี้ยว นำมาต้มกับน้ำ เติมน้ำตาล ดื่มแก้ร้อนใน กระหายน้ำ และช่วยป้องกันการจับตัวของไขมันในเส้นเลือดได้ และยังนำมาทำขนมเยลลี่ แยม หรือใช้เป็นสารแต่งสี ใบอ่อนของกระเจี๊ยบเป็นผักได้ หรือใช้แกงส้ม รสเปรี้ยวกำลังดี กระเจี๊ยบเปรี้ยวมีชื่อเรียกอีกชื่อว่า "ส้มพอเหมาะ" ในใบมี วิตามินเอ ช่วยบำรุงสายตา ส่วนกลีบเลี้ยงและกลีบดอก มีสารแคลเซียม ช่วยบำรุงกระดูกและฟันให้แข็งแรง

น้ำกระเจี๊ยบแดงที่ได้สีแดงเข้ม สาร Anthocyanin นำไปแต่งสีอาหารตามต้องการ

พืช สมุนไพร

พืชสมุนไพร เป็นสิ่งที่อยู่คู่คนไทยมานับพันปี แต่เมื่อการแพทย์แผนปัจจุบันเริ่มเข้ามามีบทบาทในบ้านเรา สรรพคุณและคุณค่าของสมุนไพรอันเป็นสิ่งที่เรียกได้ว่าภูมิปัญญาโบราณก็เริ่มถูกบดบังไปเรื่อยๆ และถูกทอดทิ้งไปในที่สุด

ความจริงคนส่วนใหญ่ก็พอรู้ๆ กันว่า สมุนไพรไทยเป็นสิ่งที่มีคุณค่าใช้ประโยชน์ได้จริง และใช้ได้อย่างกว้างขวาง แต่เป็นเพราะว่าเราใช้วิธีรักษาโรคแผนใหม่มานานมากจนวิชาแพทย์แผนโบราณที่มีสมุนไพรเป็นยาหลักถูกลืมจนต่อไม่ติด



ภาครัฐเริ่มกลับมาเห็นคุณค่าของสมุนไพรไทยอีกครั้งด้วยการแถลงนโยบายต่อรัฐสภาไว้เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2535 ว่า " ให้มีการผสมผสานการแพทย์แผนไทยและสมุนไพรเข้ากับระบบบริการสาธารณสุขของชุมชนอย่างเหมาะสม"



บทความข้างต้นเป็นส่วนหนึ่งในคำนำของหนังสือ "สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด" ซึ่งเภสัชกรหญิงสุนทรี สิงหบุตรา เภสัชกรด้านเภสัชสาธารณสุข หัวหน้าฝ่ายวิชาการ กองเภสัชกรรม สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร ในฐานะผู้รวบรวมและเรียบเรียง ได้บันทึกไว้ ซึ่งต่อมาทางสำนักอนามัยฯ ได้นำหนังสือดังกล่าวขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อใช้ประโยชน์ในงานของโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ การนี้ ทางโครงการฯ เห็นว่าเนื้อหาในหนังสือมีคุณค่าและให้ประโยชน์กับผู้ที่ร่วมงานกับโครงการฯ รวมถึงบุคคลทั่วไป จึงได้นำขึ้นเผยแพร่ในเวบไซต์โครงการฯ

จึงหวังว่าผู้ที่เข้ามาหาข้อมูลและได้อ่านเรื่องต่างๆ ในเวบไซต์นี้คงได้รับความรู้และอาจนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์กับตนเองหรือบุคคลรอบข้างได้ไม่มากก็น้อย..